เข้าสู่ฤดูหนาวมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แม้อากาศจะเย็นลงบ้างในบางจังหวัด แต่สำหรับชาวกรุงถือว่าได้สัมผัสความเย็นแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นเอง แต่หลายคนก็ยัง (แอบ) มีหวังกับความหนาวที่อาจจะมาเยือนได้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับอากาศที่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอด เวลา...
มูลนิธิ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรแนะนำเมนูอาหารต้านภัยหนาว เน้นการต้านโรคหวัดที่เกิดจากอากาศเปลี่ยนแปลงรวมทั้งอาหารที่ให้ความอบอุ่น ที่จะช่วยปรับสมดุลให้กับร่างกายเริ่มกันที่ "แกงบอน" หรือแกงนางหวาน ที่เป็นเมนูขึ้นชื่อในเรื่องของอาหารลดน้ำหนัก แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นเมนูที่ให้ความอบอุ่นกับร่างกายด้วยเช่นกัน
บอนเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของชาวไทย ส่วนที่นิยมรับประทานก็คือ นำยอดอ่อน ก้านใบ และไหลอ่อนมากินเป็นผัก แต่ต้องมีความชำนาญในการปรุงอย่างถูกวิธีจึงจะกินได้โดยไม่คันและไม่มีผล ข้างเคียง
เคล็ดลับมีหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การปอก ควรทามือด้วยปูนที่กินกับหมากให้ทั่วมือเสียก่อน ส่วนการนำมาปรุงเป็นอาหารต้องมีเครื่องปรุงที่มีรสเปรี้ยว เช่น น้ำมะขาม ยอดมะขาม ส้มป่อยหรือน้ำมะกรูด เพื่อดับพิษคันของบอน
หมอยาพื้นบ้านมักจะบอกว่า กินแกงบอนจะช่วยรักษาริดสีดวงทวารทุกชนิด ช่วยในการระบายท้อง ช่วยปรับธาตุและบำรุงร่างกาย ส่วนการศึกษาสมัยใหม่พบว่า ในก้านบอนมีไนเอซินสูงมากถึง 13 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ที่ช่วยเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน ช่วยควบคุมการทำงานของสมองและระบบประสาท รักษาสุขภาพของผิวหนัง ลิ้น และเนื้อเยื่อของระบบย่อยอาหาร จำเป็นสำหรับการสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศ และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลอีกด้วย
"ต้มข่าไก่ใส่หัวสะเลเต" ข่าเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์มากในหน้าหนาว คือช่วยบำรุงธาตุไฟ ช่วยย่อยอาหาร แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน และยังช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและต้านมะเร็ง
ต้มข่าไก่จึงเป็นตำรับอาหารไทยที่เลื่องชื่อ แต่ถ้าจะให้มีรสหอมชวนรับประทานยิ่งขึ้น ให้ซอยหัวสะเลเตหรือมหาหงษ์ใส่ลงไปจะช่วยเพิ่มรสชาติและมีสรรพคุณในการแก้ ปวดหัวด้วย
"ข้าวหมาก" คนโบราณบอกว่า ผู้หญิงควรกินข้าวหมาก เพราะข้าวหมากเป็นยาร้อนจะช่วยบำรุงเลือดลมสตรี ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ไม่เป็นสิว ฝ้า และยังพบว่าในข้าวหมากมีธาตุสังกะสีมากช่วยลดการเกิดและช่วยรักษาสิว
ข้าวหมากมีจุลินทรีย์ที่เป็นโปรไบโอติกซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีแนวโน้มในการ นำมาใช้เพื่อดูแลสุขภาพ มีการศึกษาพบว่าโปรไบโอติกกระตุ้นให้มีการสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเกิดมะเร็ง ช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานปกติ ช่วยให้ดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น และเป็นยาบำรุงร่างกายให้แข็งแรงอีกด้วย
"รำหมกกล้วย" รำข้าวมีส่วนประกอบสำคัญคือ จมูกข้าว ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นน้ำนมรำข้าวที่เป็นวิตามินที่ไม่ละลายน้ำ และยังอุดมไปด้วยวิตามินที่ละลายน้ำ รวมทั้งเกลือแร่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย
โดยเฉพาะวิตามินที่ไม่ละลาย เช่น วิตามินอีธรรมชาติ แกมมาโอริซานอล ช่วยทำให้ผิวยืดหยุ่น เต่งตึง ลดจุดด่างดำ ลดริ้วรอยและยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัย ลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ เป็นต้น สำหรับวิตามินที่ละลายน้ำได้ คือวิตามินบีรวม ช่วยในการทำงานของระบบประสาท เหน็บชา ฯลฯ
ส่วนแร่ธาตุอื่น ๆ อาทิ แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส สังกะสี ช่วยเพิ่มพลังงาน เพิ่มการเผาผลาญ เสริมสร้างการเติบโตของสมอง ฯลฯ
นอกจากนั้นในกล้วยน้ำว้าซึ่งเป็นผลไม้พื้นบ้านที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ที่สำคัญคือ มีกรดอะมิโน อาร์จินิน และฮีสติดิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตในเด็ก รวมทั้งวิตามินเอวิตามินบี อีกด้วย
บทความโดย หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
Read More...