ซอสลูกตำลึงที่ทำบรรจุขวดเรียบร้อย
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
|
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น |
|
|
| |
น้ำจิ้มหรือซอสเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะครัวไทย ครัวจีน หรือครัวฝรั่งก็ต้องมีซอสอยู่คู่ครัวเสมอ แต่จะเป็นอย่างไรหากมีซอสแบบใหม่เพิ่มเข้ามาในครัวอีก 1 ขวด วันนี้ไลฟ์ ออน แคมปัส มีซอสสูตรใหม่มานำเสนอ
ซอสที่ว่านี้ก็คือ ซอสลูกตำลึงสุก เป็นซอสรสเด็ดฝีมือเด็กไทยที่เลือกเอาสิ่งใกล้ๆตัวมาคิดค้น และใส่ไอเดียลงไปให้แปลกใหม่ไฉไลกว่าเดิม นอกจากได้รสชาติที่อร่อยแล้วยังมีคุณค่าทางโภชนาการดีๆอีกด้วย
"แคท" จารุวรรณ สิงห์สาธร นัก ศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คิดค้นสูตรซอสลูกตำลึง ขึ้นมาเพื่อเป็นการพัฒนาสิ่งที่ทุกคนมองข้ามอย่างพืชผักท้องถิ่นที่เป็นผัก สวนครัวของคนไทยอย่างตำลึง ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นอาหารแสนอร่อยที่ใครๆก็สามารถทำได้
"ตำลึงเป็นผักที่ขึ้นตามรั้วบ้าน ยอดอ่อนของตำลึงนิยมนำมาประกอบอาหาร เช่น นำมาลวกและนึ่งเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือนำไปปรุงอาหารเป็นแกงเลียง แกงจืด บางท้องถิ่นชาวบ้านนำผลอ่อนตำลึงไปดองและนำไปรับประทานกับน้ำพริกหรือปรุง เป็นแกงได้ ส่วนลูกตำลึงสุกก็สามารถรับประทานได้ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเก็บลูกตำลึงสุกไปเลี้ยงนกเสียมากกว่า"
จากการศึกษาค้นคว้า เจ้าของสูตรพบว่าลูกตำลึงมีสารอาหารทั้งฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินซี เช่นเดียวกับส่วนยอดและใบตำลึง สำหรับน้ำที่คั้นจากผลตำลึงดิบช่วยลดน้ำตาลในเลือดและโรคเบาหวานได้ คุณค่าโภชนาการของลูกตำลึง 100 กรัม ประกอบด้วย พลังงาน 20 แคลลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 5.2 กรัม โปรตีน 0.7 กรัม แคลเซียม 25 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 25 มิลลิกรัม และเหล็ก 0.6 มิลลิกรัม
"คิดสูตรเองค่ะ เคยกินตำลึงสุกตอนเด็กๆค่ะมันออกรสเปรี๊ยวๆเหมือนมะเขือเทศ สีแดงสดเหมือนกันก็เลยคิดว่าน่าจะเอามาทำซอสเหมือนซอสมะเขือเทศได้ เราก็ไปค้นข้อมูลมาว่ามันมีสารอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายยังไงบ้าง ปรากฎว่าก็มีคุณค่าทางโภชนาการเยอะเหมือนกัน ก็เลยลงตัวที่การทำซอส ส่วนวิธีการทำเราก็ลองเอาสูตรการทำซอสมะเขือเทศมาดูว่ามีสัดส่วนของเครื่อง ปรุงอะไรบ้าง แล้วเราก็เอามาปรับโดยใช้เป็นลูกตำลึงสุกแทน อนาคตก็อยากพัฒนาไปจนมีแบรนของตัวเองได้ค่ะ อย่างที่ทำก็คิดชื่อเอง ทำฉลากเอง บรรจุลงขวดเองทั้งหมด ซึ่งทำได้ไม่ยาก"
แคทอธิบายวิธีการทำซอสว่า ส่วนผสมได้แก่ ลูกตำลึงสุก 1 กิโลกรัม พริกชี้ฟ้าแดง 200 กรัม กระเทียมสับ 200 กรัม อบเชย 1 ชิ้น น้ำส้มสายชู 150 กรัม น้ำตาลทราย 400 กรัม เกลือ 50 กรัม ซึ่งจากสูตรดังกล่าวจะได้ซอสลูกตำลึง 600 กรัม ขั้นตอนในการผลิตซอสลูกตำลึง 1. นำน้ำใส่หม้อยกขึ้นตั้งไฟ ใส่กระเทียม ลูกตำลึงสุก พริกชี้ฟ้า ต้มจนเปื่อย 2. นำส่วนผสมในข้อที่ 1 มายีบนตะแกรง หรือปั่นให้ละเอียด (เอาเมล็ดออก)
3. นำน้ำส้มสายชู น้ำตาลทราย เกลือ ใส่หม้อตั้งไฟให้ละลายเข้ากัน 4. นำส่วนผสมที่ปั่นละเอียดแล้ว ใส่ลงหม้อ ตั้งไฟเคี่ยวจนข้น (ไฟแรงปานกลาง เคียวประมาณ 20 นาที) สังเกตสีจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม จากนั่นชิมรสชาติตามที่ชอบ 5. นำซอสลูกตำลึงกรอกใส่ขวด ที่ล้างสะอาด แล้วปิดฝาให้สนิท นำไปนึ่งฆ่าเชื้อโรคประมาณ 30 นาที เก็บไว้รับประทาน จะได้ซอสลูกตำลึงที่สามารถนำมารับประทานกับของทอด เช่น ใส้กรอก ไก่ทอด หรือจะนำไปปรุงอาหารแทนซอสมะเขือเทศก็ได้
"ซอสตัวใหม่ที่ทำขึ้นมาคิดว่าผู้ บริโภคบ้านเราก็น่าจะยอมรับนะคะ ถ้าได้ชิมแล้วน่าจะชอบ คือมันใช้แทนซอสมะเขือเทศได้เลย บางคนอยากจะทำกินเองในครอบครัวก็ได้ ทำขายก็ดีเพราะทำไม่ยาก เครื่องปรุงมีไม่กี่อย่างแถมต้นทุนก็ต่ำ อย่าง เกลือ น้ำตาล น้ำส้ม อบเชย ก็ซื้อมาอย่างละนิดๆหน่อย ๆ รวมต้นทุนไม่ถึง 30 บาท ก็สามารถทำซอสออกมาได้ในปริมาณ 1 ขีด ตอนนี้ซอสที่ลองทำยังไม่ได้จัดจำหน่าย แต่คิดไว้ว่าอยากขายเองเหมือนกัน เคยให้เพื่อนๆชิมดู เขาก็บอกว่ามันรสชาติเหมือนซอสมะเขือเทศค่ะ"
แคท กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำลูกตำลึงสุกมาทำซอสลูกตำลึง เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับลูกตำลึงสุกและเป็นทางเลือกหนึ่งของคนไทย สำหรับคนที่ชอบในรสชาติของซอสมะเขือเทศอยู่แล้ว หากได้ลิ้มลองซอสลูกตำลึงเชื่อว่าผู้บริโภคก็น่าจะชอบเช่นกัน หากทำรับประทานเองได้สามารถปรับเปลี่ยนรสชาติซอสลูกตำลึงได้ตามความชอบ แถมได้ความอร่อยจากความสดใหม่ ปลอดภัย และปราศจากสารเคมี
"บาง คนยังไม่รู้ว่าลูกตำลึงสุกสามารถนำมาทำอาหารอย่างอื่นได้ แต่พอเอามาทำซอสก็คิดว่าคนจะรู้จักลูกตำลึงมากขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าให้พืชผักพื้นบ้านของเราด้วย และมีคุณค่าทางอาหารมากมายเหมือนกับที่เรากินยอดตำลึง การคิดสูตรอาหารหรือการหาไอเดียใหม่ๆไม่ได้ยากเลย เพียงแค่ลองมองสิ่งใกล้ๆตัวก่อนแล้วศึกษาให้ดี ทดลองทำจนได้ผลเป็นมาตรฐานความสะอาดและปลอดภัย ก็จะทำให้เราพัฒนาฝีมือการทำคิดสูตรอาหารหรือการทำอาหรแปลกใหม่ขึ้นมาได้ เพราะของใกล้ตัวอาจจะมีคุณค่าอย่างที่เราไม่เคยคิดมาก่อนก็ได้" แคททิ้งท้าย |
| | |
|
|
|
|
|
adv001