เมื่อปีที่ผ่านมาในวงการกล้วยน้ำว้าฮือฮาถึงกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง
พ่อค้าหน่อกล้วยตามงานเกษตรต่างๆ เอากล้วยน้ำว้าเครือขนาดใหญ่มาโชว์ให้ลูกค้าชมแล้วก็ขายหน่อ
พร้อมขยายสรรพคุณซะเลอเลิศว่า ขนาดของเครือมีขนาดใหญ่ จำนวนหวีก็มากแต่ละหวีก็มีผลกล้วยมาก
จึงทำให้มีคนซื้อกล้วยน้ำว้ามะลิอ่องไปมากมาย เพราะเห็นขนาดใหญ่ของเครือและหวี
ราคาค่อนข้างแพงถึงต้นละ 80-120 บาท ผมก็หลงซื้อมา เพราะหลงนิยายพ่อค้ากล้วยกับเขาด้วยเช่นกัน
จนกระทั่งได้ไปเจอผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วย จึงรู้ว่ากล้วยน้ำว้ามะลิอ่องคืออะไร เรื่องกล้วยๆ ไม่น่าต้มกันได้
อาจารย์กัลยาณี สุวิทวัส นักวิชาการเกษตร 8 ชำนาญการ ของสถานีวิจัยปากช่อง
สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกล้วยน้ำว้า เพราะอาจารย์เป็นผู้รวบรวมพันธุ์กล้วย
โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้าทุกสายพันธุ์ในประเทศไทย มาปลูกในสถานีวิจัยปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
เพื่อการศึกษาและคัดสายพันธุ์ ทำให้ทราบถึงความเป็นมาเป็นไปของกล้วยน้ำว้า ที่ปลูกกันอยู่ในบ้านเรา
อาจารย์กัลยาณี บอกกับเราว่า "กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง เป็นชื่อทางเหนือ แปลว่า ขาว เพราะไส้กล้วยมะลิอ่องจะขาว
แต่ทางเมืองนนท์จะเรียกกล้วยชนิดนี้ว่า กล้วยน้ำว้าสวน ซึ่งจะมีลักษณะลูกเล็กสั้นๆ ป้อมๆ ในแต่ละหวีมีไม่กี่ผล
เครือมีขนาดเล็ก คนซื้อเลยกลายเป็นเหยื่อของคนขายพันธุ์ไม้ คนที่ยังไม่รู้ก็คิดว่ากล้วยมะลิอ่องเป็นกล้วยเครือใหญ่
เคยเห็นตามงานพ่อค้าก็เอากล้วยน้ำว้าเครือใหญ่มาแขวน แล้วบอกว่า กล้วยมะลิอ่อง
ทำให้คนเข้าใจว่ากล้วยมะลิอ่องเป็นกล้วยเครือใหญ่ ก็ซื้อหาเอาไปปลูกกัน ก็ไม่ได้ไปแย้งเขา"
พอรู้เรื่องนี้ก็นึกภาพออกได้ว่า กล้วยมะลิอ่องนี้ก็เป็นกล้วยน้ำว้า ซึ่งเมื่อ 20 ปีก่อนมีขายในกรุงเทพฯ
ขนาดลูกเล็กๆ ป้อมๆ อย่างที่อาจารย์ว่าจริง ชาวสวนแถบเมืองนนท์นำมาขาย
เมื่อเทียบกับกล้วยน้ำว้าอื่นที่มีขนาดใหญ่ดูน่ากินกว่า
ทำให้กล้วยน้ำว้าสวนดูเหมือนกับกล้วยเกร็นขนาดเล็กไม่น่าซื้อ กล้วยสวนของเมืองนนท์ก็เลยหายไป
เพราะหวีดูไม่สวย แต่สาเหตุที่สำคัญน่าจะเป็นเพราะราคาที่ดินที่สูงขึ้น ทำให้เรือกสวนเมืองนนท์หายไป
แต่ถ้าถามถึงความอร่อย กล้วยสวนจะมีรสชาติอร่อยกว่ากล้วยหวีใหญ่
ปรับปรุงพันธุ์กล้วยน้ำว้าเพื่อการค้า
ด้วยการที่อาจารย์กัลยาณีเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านกล้วยน้ำว้า จึงมีผู้ประกอบการรายหนึ่งเขามาปรึกษา
เรื่องเกี่ยวกับกล้วยน้ำว้าว่า เขาทำกล้วยแผ่นอบส่งออกไปประเทศทางยุโรป ตอนแรกทำไม่มากนัก
ส่งออกก็ไม่มีปัญหา แต่พอตอนหลังเพิ่มจำนวนส่งออกมากขึ้น มีปัญหาว่าทางยุโรปตีกลับ
เพราะหาว่าเอากล้วยแผ่นอบเก่าส่งไปให้ แต่ผู้ประกอบการรายนี้ยืนยันนอนยันว่าเป็นกล้วยใหม่ทำส่งไปให้
เพราะเขาเป็นผู้ทำและเป็นผู้ควบคุมการผลิตเองทั้งหมด
อาจารย์กัลยาณีถามคำแรกเลยว่า คุณรู้จักกล้วยน้ำว้าแค่ไหน
ผู้ประกอบการรายนี้บอกว่า ใครส่งกล้วยน้ำว้ามาผมก็ซื้อหมด ขอให้เป็นกล้วยน้ำว้า
"ไม่ได้ค่ะ" อาจารย์กัลยาณีบอกกับเขา แล้วชี้แจงให้ฟังว่า "กล้วยน้ำว้าในประเทศไทยที่ได้ศึกษามี 3 กลุ่ม
คือ กลุ่มกล้วยน้ำว้าไส้แดง กลุ่มกล้วยน้ำว้าไส้ขาว กลุ่มกล้วยน้ำว้าไส้เหลือง
สำหรับกลุ่มแรกคือ กลุ่มกล้วยน้ำว้าไส้แดงมีผลดก ไส้กลางข้างในค่อนข้างแข็งหรือมีความฝาดสูง
เหมาะสำหรับเอาไปทำกล้วยเชื่อมหรือข้าวต้มมัด เพราะไส้จะค่อนข้างแข็งไม่เละ
ถ้าเอาผลสุกไปทำกล้วยบวชชีจะมีรสฝาดเจือ ไม่ค่อยอร่อย และถ้าเอาไปทำกล้วยตากจะมีสีคล้ำเหมือนกล้วยเก่า
อย่างที่ผู้ประกอบการรายนี้เจอปัญหา เพราะเอากล้วยน้ำว้าไส้แดงไปทำ ผู้ซื้อจึงตีกลับมาทั้งๆ ที่ทำใหม่
เพราะเอากล้วยน้ำว้าคละไส้ไปทำ ทั้งๆ ที่ทำเทคนิคเดียวกัน ล็อตเดียวกัน แต่สีมันต่างกัน
ซึ่งเกิดจากกล้วยที่มีไส้ต่างกัน แต่กล้วยน้ำว้าไส้แดงนำไปทำกล้วยอบน้ำผึ้งได้"
กลุ่มที่สองคือ กล้วยน้ำว้าไส้ขาวและกล้วยน้ำว้าไส้เหลือง
อาจารย์กัลยาณีแนะนำให้ใช้ 2 พันธุ์นี้ สำหรับนำไปทำกล้วยแผ่นอบ
โดยแนะนำว่า "กล้วยน้ำว้ามะลิอ่องเป็นกล้วยน้ำว้าไส้ขาว เมื่อนำไปทำเป็นกล้วยแผ่นอบสีจะเหลืองสวย
ไม่เหลืองมากเหมือนกลุ่มกล้วยน้ำว้าไส้เหลือง ซึ่งกล้วยน้ำว้าไส้ขาวนี้เหมาะสำหรับทำกล้วยตาก กล้วยแผ่นอบ
ส่วนกล้วยน้ำว้าไส้เหลืองจะเหมาะสำหรับกินสด กล้วยเชื่อม กล้วยบวชชี กล้วยทอด แป้งกล้วย
หรือทำได้ทุกอย่างไม่มีข้อจำกัด ในการแปรรูปกล้วยเพื่อเป็นการค้า กล้วยน้ำว้าไส้เหลืองเหมาะที่สุด
เนื่องจากมีผลผลิตมาก ดูแลดีๆ จะได้ถึง 10-15 หวี ต่อเครือ ซึ่งกลุ่มกล้วยน้ำว้าไส้ขาว คือ มะลิอ่องทำไม่ได้
บำรุงให้ดียังไงผลผลิตก็เทียบกันไม่ได้ เพราะเป็นไปตามลักษณะสายพันธุ์"
กล้วยน้ำว้าไส้เหลืองใช้งานได้ครอบจักรวาล
สถานีวิจัยปากช่อง ได้ปรับปรุงพันธุ์กล้วยน้ำว้า ปากช่อง 50 ซึ่งเป็นกล้วยน้ำว้าไส้เหลืองขึ้นมา
เนื่องจากกล้วยน้ำว้ากลุ่มไส้เหลืองสามารถนำมากินสดก็ได้ แปรรูปได้ทุกอย่าง
และยังมีผลผลิตที่ดกเหมาะสำหรับการปลูกเพื่อการค้าอีกด้วย
กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 เกิดจากการนำสายพันธุ์กล้วยน้ำว้าทั่วประเทศมาปลูกทดลอง แล้วคัดพันธุ์ขึ้นมา
เนื่องจากการผสมพันธุ์กล้วยยากมาก นักวิชาการจะไม่ใช้วิธีการผสมพันธุ์กล้วย
เมื่อคัดต้นกล้วยน้ำว้าที่มีคุณสมบัติดีที่สุดแล้ว ก็นำมาขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเนื้อเยื่อ
นำมาปลูกทดลองในสถานีวิจัยปากช่อง โดยการปลูกเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นอย่างละ 20 ต้น
และมีการนำผลผลิตมาเปรียบเทียบกันในแต่ละฤดูกาลอีกด้วย
อาจารย์กัลยาณีกล่าวว่า "ในช่วงฤดูร้อน เมื่อเทียบกับ 5-6 สายพันธุ์ กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ยังเด่นกว่า
ฤดูฝนไม่ต้องกล่าวถึง เพราะปากช่อง 50 ดกกว่า ในฤดูหนาวโดยรวมผลผลิตไม่ค่อยดีก็ยังดีกว่าตัวอื่น
การเปรียบเทียบสายพันธุ์นี้ไม่ใช่ทำแค่ 1-2 ปี แต่ได้ปลูกเปรียบเทียบมาเกือบ 10 ปีแล้ว ทำมาครั้งละ 1-2 ไร่
ผลผลิตก็ยังสม่ำเสมอเหมือนเดิม ในการปลูกเพื่อเปรียบเทียบผลผลิต ไม่ใช่เปรียบเทียบแค่ระหว่างต้นต่อต้น
แต่ต้องเปรียบเทียบอย่างน้อย 10-20 ต้น และเปรียบเทียบในทุกช่วงฤดูกาล"
อาจารย์กัลยาณี เล่าว่า เคยมีเกษตรกรบางคนบอกว่า กล้วยน้ำว้าของเขามีผลผลิตมากกว่ากล้วยน้ำว้า ปากช่อง 50
คือได้เครือละ 15 หวี แต่พอซักเข้าจริงๆ มีแค่ครั้งเดียวและก็ต้นเดียว ซึ่งเป็นเพราะสภาพต้นที่สมบูรณ์มาก
ไม่ได้มีจำนวนมากถึงเป็นหลายสิบต้นที่มีความสมบูรณ์เหมือนๆ กัน
เปรียบเทียบระหว่างหน่อกล้วยกับกล้วยปั่นตา
การคัดพันธุ์ เพื่อหากล้วยน้ำว้าที่มีผลผลิตดีที่สุดของสถานีวิจัยปากช่อง ใช้เวลาเกือบ 10 ปี ก็เหนื่อยพอแล้ว
แต่ยังต้องเหนื่อยต่อไปอีก เพราะเรื่องยังไม่จบ ในการปลูกกล้วยเกษตรกรมักเคยชินกับการปลูกกล้วยด้วยหน่อ
เนื่องจากเห็นว่าขนาดของหน่อใหญ่กว่ากล้วยที่ได้จากการปั่นตามาก
ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่เข้าใจว่า กล้วยที่ปลูกจากหน่อโตเร็วกว่ากล้วยที่มาจากการปั่นตา
และถ้าสถานีวิจัยปากช่องขุดหน่อกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 มาขาย
คงจะไม่เพียงพอให้แก่เกษตรกรทั้งประเทศแน่นอน จึงต้องนำกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 มาปั่นตา
อาจารย์กัลยาณีก็ต้องเหนื่อยอีกรอบ โดยการทำแปลงทดลองระหว่างกล้วยที่ขุดหน่อมาปลูก
กับกล้วยที่มาจากการเพาะเนื้อเยื่อว่าแบบไหนดีกว่ากัน
โดยปลูกหน่อกล้วยสูง 1 เมตร กับกล้วยปั่นตาสูง 50 เซนติเมตร ปรากฏว่า ปลูกครบ 4 เดือน สูงเท่ากันเลย
เพียงแต่ในช่วงแรกต้นกล้วยที่ได้จากการปั่นตา ต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ที่ใกล้ชิด
คือต้องมีการรดน้ำ ถากหญ้า ใส่ปุ๋ย พอต้นลอกคราบเปลี่ยนใบใหม่ต้นกล้วยก็จะเจริญเติบโตอย่างเร็ว
ส่วนกล้วยหน่อหลังจากการปลูกแล้วจะแตกใบแรก แล้วต้นยังนิ่งอยู่ เพราะต้องรอสร้างรากก่อน
เนื่องจากกล้วยที่ขุดหน่อมักจะไม่มีราก ใบใหม่จึงชะงักอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วจะไปโตทันกันเมื่อครบ 4 เดือน
เทคนิคการปลูกและการไว้หน่อ
การขุดหลุมปลูกกล้วยก็ต้องพิถีพิถัน ไม่ใช่การขุดรูฝังกล้วย แต่ต้องขุดเป็นหลุม 50 เซนติเมตร ทั้งกว้าง ยาว ลึก
แล้วใส่ก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก รากของกล้วยหยั่งลึกอยู่ประมาณ 50 เซนติเมตร รากของกล้วยก็เหมือนคน
พอมันรุดหน้าไปเจอดินแข็งๆ เพราะเราขุดหลุมนิดเดียวมันก็ถอยกลับแล้วไชขึ้นด้านบน โคนก็ลอย
เมื่อเป็นกอใหญ่ๆ ก็ล้มลง แต่การขุดหลุมให้ใหญ่แล้วเอาปุ๋ยหมักลงดิน ด้านล่างจะซุยรากก็จะแทงลงดิน
การขุดหลุมเป็นการลงทุนเพิ่มหรือเพิ่มเวลาทำก็จริง แต่ได้ประโยชน์มากเพราะกล้วยจะเป็นกอขนาดใหญ่
อยู่ได้ 5-6 ปี ถ้าขุดหลุมปลูกเล็ก เมื่อกล้วยเป็นกอจะเจอปัญหาโคนลอยและล้มไปในที่สุด
อีกอย่างหนึ่งที่อาจารย์กัลยาณีแนะนำคือ การไว้หน่อของกล้วยน้ำว้า
โดยปกติชาวบ้านจะไว้หน่อกล้วยทุกหน่อที่เกิดข้างต้นแม่
การมีหน่อมากๆ เหมือนแม่มีลูกมาก ก็จะแย่งอาหารกินกัน ทำให้ต้นและผลไม่สมบูรณ์
แต่อาจารย์แนะนำว่าปลูกกล้วยไปแล้ว 6 เดือน ถึงจะไว้หน่อได้ 1 หน่อ
พอหน่อนี้อายุได้ 3 เดือน ก็จะไว้อีก 1 หน่อ นอกนั้นตัดทิ้งให้หมด เพราะฉะนั้น กล้วยแต่ละกอจะมีไม่เกิน 4 ต้น
การดูแลตัดใบที่เสียออกก็เป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้กอโปร่ง ถ้าในตอนกลางวันมีแสงลอดเข้าไปถึงโคนกอกล้วย
ก็ถือว่าโปร่งเพียงพอ และการหมุนเวียนของอากาศก็จะดี เพราะกล้วยไม่มีหน่อหรือใบมากจนเกินไป
แต่การตัดแต่งใบต้องระวังถ้าเหลือใบต่ำกว่า 7 ใบ ต้นจะไม่พอเลี้ยงลูก
การปลูกกล้วยน้ำว้าดีกว่ากล้วยหอม หรือกล้วยไข่ เพราะสามารถทำเป็นกอได้
และการปลูกกล้วยไข่และกล้วยหอมไม่จำเป็นต้องขุดหลุมใหญ่
เพราะผลมันจะสมบูรณ์แค่ 2 รุ่น ก็จะต้องล้มต้นปลูกใหม่
โรคตายพราย
โรคตายพราย เป็นโรคที่ต้องระวังมากในกล้วยน้ำว้า เพราะถ้าเป็นในแปลงเมื่อไหร่
จะไม่สามารถปลูกกล้วยน้ำว้าได้อีกในระยะ 10-20 ปี เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวังเรื่องหน่อพันธุ์ที่ซื้อมา
ต้องไว้ใจได้ว่าไม่ได้ขุดหน่อมาจากแปลงที่มีปัญหาเรื่องโรคตายพราย
สำหรับการปลูกเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือนหรือขายเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่จำเป็นนัก
แต่ถ้าเป็นการปลูกเพื่อเป็นการค้าขนาดใหญ่ การใช้ต้นกล้วยพันธุ์ที่ปั่นตาจะไม่มีปัญหาเหล่านี้
สนใจรายละเอียดมากกว่านี้ติดต่อได้ที่ สถานีวิจัยปากช่อง โทร. (044) 311-796 ในวันและเวลาราชการ
รายงานโดย องอาจ ตัณฑวณิช ชมรมการจัดการทรัพยากรเกษตร www.ongart04@yahoo.com
คอลัมน์ เทคโนโลยีการเกษตร นิตยสาร เทคโนชาวบ้าน
วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 23 ฉบับที่ 495
ที่มา : http://info.matichon.co.th
ภาพจาก : http://www.bankaset.com
ขายของได้ทุกที่ บนรถขายขายของเคลื่อนที่ ได้ทั้งของกินและเครื่องดื่ม
ตัวอย่างอาชีพค้าขายที่ไม่ง้อทำเล(รูป)ตอน 1-12
download ...http://commercial-on-wheels.blogspot.com/
ตัวอย่างอาชีพค้าขายที่ไม่ง้อทำเล(รูป)ตอน 1-12
download ...http://commercial-on-wheels.blogspot.com/
adv001