“เทคนิคใช้วัสดุผสม” เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ไปกันได้ดี กับชิ้นงานแฮนด์เมด ขึ้นอยู่กับเจ้าของชิ้นงานว่า จะมีไอเดียในการสร้างสรรค์ชิ้นงานแค่ไหน ถ้าใช้ได้ถูกที่กับทำให้มีความแปลกแตกต่าง ก็สามารถนำมาเป็นจุดขายได้เช่นกัน อย่างเช่น “นาฬิกาไม้ผสมเรซิ่น” ของ “ธีรพล ธนมณฑล-เปลี่ยนกาล ไตรคุ้มพันธุ์” ซึ่งวันนี้ทีมคอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอ
หนุ่มสาวรุ่นใหม่ เจ้าของชิ้นงานดังกล่าว ที่ใช้ชื่อร้านว่า “Nympheart” (นิ้มฮาร์ท) เล่าว่า เรียนเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์และเครื่องประดับ จึงคิดนำความถนัดกับความรู้ที่ร่ำเรียนมาต่อยอด ด้วยการผสมวัสดุ 2 ชนิด เพื่อทำเป็นชิ้นงานขึ้น ทั้งนี้ เกี่ยวกับชิ้นงานนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากงานของต่างประเทศ ที่มีการใช้อะลูมิเนียมมาผสมกับวัสดุอีกชนิด ทั้งคู่จึงอยากทดลองทำเป็นเครื่องประดับขึ้นมา โดยออกแบบและพัฒนาให้เป็น จี้สร้อยคอ แหวน และตุ้มหูก่อน จากนั้นจึงต่อยอดไปเป็น “นาฬิกาตั้งโต๊ะ” ที่ใช้วัสดุเรซิ่นนำมาผสมผสานกับวัสดุไม้ อาทิ ไม้สัก ไม้เมเปิ้ล ไม้วอลนัท ซึ่งหลังจากลองผิดลองถูกทดลองทำอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงออกมาเป็นชิ้นงานสำเร็จรูปในที่สุด และทดลองนำออกจำหน่าย โดยผลตอบรับจากลูกค้าที่ผ่านมาถือว่าดีมาก ๆ เนื่องจากชิ้นงานแต่ละชิ้นที่ทำนั้น มีพื้นผิวและลวดลายจากวัสดุไม่เหมือนกัน
“ไม้ที่ใช้ทำเป็นวัสดุธรรมชาติ ซึ่งมีพื้นผิวและลักษณะลวดลายไม่เหมือนกัน จึงนำวัสดุอย่างเรซิ่นมาใช้เพื่อปิดช่องว่างของไม้ที่มีลักษณะเป็นรูพรุน และด้วยความใสของเรซิ่นทำให้สามารถมองเห็นพื้นผิวและรายละเอียดของไม้ ซึ่งลูกค้าที่เห็นชิ้นงานก็บอกว่าสวยและแปลกตาดี” ...เป็นการระบุจากเจ้าของชิ้นงานดังกล่าว ที่ได้นำเอาวัสดุ 2 ชนิด ที่แตกต่างกันมาผสมผสานจนเกิดเป็นชิ้นงานที่ว่านี้ และสามารถใช้เป็น “จุดขาย” เพิ่มความน่าสนใจให้กับชิ้นงานได้อย่างดี
‘ปุยฝ้ายนมสด’
จุดต่างสร้างยอดขาย
‘ปุยฝ้ายนมสด’ จุดต่างสร้างยอดขาย
วันอาทิตย์ 8 มีนาคม 2558 เวลา 06:00 น.
“ขนมปุยฝ้าย” เป็นขนมที่ไม่ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ที่วิจิตรพิสดารอะไร ทำไม่ยาก รวมถึงส่วนผสมก็หาง่าย ในปัจจุบันก็มีการพลิกแพลงกันมาก เพื่อสร้างจุดต่าง และเพิ่มมูลค่าให้กับขนม อาทิ ปุยฝ้ายสมุนไพร รวมไปถึง“ปุยฝ้ายนมสด” ซึ่งทีมคอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอในวันนี้...
ทัชชา ปรีดาวิจิตรกุล หรือ หนิง เจ้าของ “ทัชชา-ปุยฝ้ายนมสด” จาก จ.นครราชสีมา กล่าวว่า เดิมทำงานเป็นพนักงานบัญชีของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และมักจะใช้เวลาในวันเสาร์-อาทิตย์เรียนทำขนมปุยฝ้ายซึ่งเป็นขนมที่ตัวเองชื่นชอบ และอยากจะทำให้เป็น ซึ่งก็ใช้เวลาระยะหนึ่งในการหัด และฝึกฝนจนกระทั่งชำนาญ
“เมื่อก่อนที่บ้านจะทำขนมเปี๊ยะ และถั่วกวนขาย แต่เนื่องจากมีรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มตามไปด้วย” ทัชชา กล่าว
ทัชชา กล่าวว่า ได้หัดทำขนมตามสูตรของตัวเองอยู่นาน โดยปรับเปลี่ยนสูตรไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งลงตัว และเริ่มทำแจกจ่ายให้เพื่อน ๆ, คนรู้จัก รวมไปถึงลูกค้าที่มาซื้อขนมเปี๊ยะได้ลองทาน กว่าจะมั่นใจในฝีมือก็ใช้เวลาเป็นปี แต่คิดว่าไม่ได้เสียเวลาไปเปล่า ๆ เพราะว่าหลังจากนั้นขนมปุยฝ้ายนมสดก็ขายดี มียอดสั่งซื้อจำนวนมากเข้ามาทุกสัปดาห์ จนกระทั่งต้องลาออกจากงานประจำ เพื่อมาเป็นแม่ค้าแบบเต็มตัว
“เหตุที่ใช้ นมสด เพราะนมสดช่วยให้ขนมนิ่ม แต่เนื้อแน่น มีกลิ่นหอม ชวนรับประทาน และทำให้ขนมปุยฝ้ายที่ทำไม่เหมือนใคร” ทัชชา กล่าว
ทัชชา กล่าวย้ำว่า ปุยฝ้ายนมสด ที่ดี เนื้อขนมจะต้องแน่น และเวลาที่นึ่งเสร็จแล้ว หน้าขนมจะฟู และแตกออกเป็น 3 แฉกอย่างสวยงาม
สำหรับอุปกรณ์หลัก ๆ ที่ใช้ในการทำ “ปุยฝ้ายนมสด” มี หม้อนึ่ง หรือลังถึง, เครื่องตีไข่, กะละมังพลาสติก, ถาด, ถ้วยตวง, ตาชั่ง, ถ้วยกระดาษ, ถ้วยอะลูมิเนียม, ไม้พายพลาสติกบาง, ตะแกรงร่อนแป้ง ฯลฯ
ในขณะที่ วัตถุดิบ หลัก ๆ มี แป้งสาลี 30%, นมสด 30%, น้ำตาลทราย 20%, ไข่ไก่อีก 20% นอกจากนี้ ยังมีสารเสริมเอสพี, น้ำเปล่า รวมทั้งกลิ่นต่าง ๆ อย่างกลิ่นวานิลลา, ใบเตย, สตรอเบอรี่, ส้ม และกาแฟ จำนวนอย่างละเล็กน้อย
ขั้นตอนการทำ “ปุยฝ้ายนมสด” เริ่มจากนำแป้งสาลีร่อนสัก 2-3 ครั้ง เพื่อให้เนื้อแป้งละเอียด ไม่มีเม็ดแป้งก้อนเล็ก ๆ ปนอยู่ จากนั้น ตีไข่ไก่ กับน้ำตาลทรายให้เข้ากันด้วยความเร็วสูงจนกระทั่งส่วนผสมขึ้นฟู มีสีขาวสวยงาม ระหว่างที่ตีไข่ไก่กับน้ำตาลทรายอยู่นั้น ให้ละลายแป้ง น้ำเปล่า และสารเสริมเอสพีให้เข้ากัน แล้วแบ่งส่วนผสมส่วนนี้ออกเป็น 3 ส่วน เตรียมไว้ และแบ่งนมสดออกเป็น 2 ส่วนเตรียมไว้เช่นกัน
เมื่อตีส่วนผสมของไข่ไก่ และน้ำตาลทรายขึ้นฟูแล้ว ลดความเร็วของเครื่องตีไข่ลง ค่อย ๆ เทส่วนผสมของแป้ง 1 ส่วนลงไปตีผสม ตามด้วยนมสดอีก 1 ส่วน แล้วสลับใส่ และตีส่วนผสมต่าง ๆ ไปจนกระทั่งครบจำนวน
ใส่กลิ่นตามที่ต้องการลงไปตีผสมเป็นขั้นตอนสุดท้าย ใช้เวลาตีส่วนผสมปุยฝ้ายนมสดไม่เกิน 10 นาที โดยแป้งที่ใช้ได้จะมีลักษณะแน่นและเนียน
ตักแป้งใส่ถุงพลาสติกพอประมาณ แล้วม้วนถุงให้เป็นเกลียว เจาะส่วนปลายของถุงออกเล็กน้อย แล้วติดหัวบีบแป้งให้แน่น
ตั้งลังถึง ใช้ไฟร้อนปานกลาง ใส่น้ำที่หม้อชั้นล่างประมาณครึ่งหม้อ แล้วต้มน้ำให้เดือด เตรียมไว้
วางถ้วยกระดาษลงบนพิมพ์ถ้วยขนมอะลูมิเนียมแบบกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 ซม. สูง 3 ซม. แล้วเรียงลงบนชั้นลังถึงให้ทั่ว ระวังอย่าให้ถ้วยขนมปิดรูลังถึง ไม่เช่นนั้นหน้าปุยฝ้ายจะไม่แตก เสร็จแล้วบีบส่วนผสมใส่ถ้วยพอเต็ม ใส่ลูกเกดจำนวน 2-3 ชิ้น ลงบนบริเวณที่คาดว่าหน้าขนมจะแตกออกมา แล้วปิดฝาลังถึงให้สนิท เวลานึ่งลดไฟลงค่อนข้างอ่อน ใช้เวลานึ่งนาน 10-15 นาที สังเกตว่าเมื่อขนมสุกหน้าจะแตกออกเป็น 3 แฉกสวยงามน่ารับประทาน นึ่งเสร็จแล้วถอดถ้วยอะลูมิเนียมออกวางขนมทิ้งไว้บนตะแกรงให้เย็น แล้วบรรจุใส่กล่องพลาสติกแบบกลม จำนวน 4 ชิ้น ขายในราคากล่องละ 35 บาท
ทัชชา ได้บอกเทคนิคในการทำขนมปุยฝ้ายทิ้งท้ายไว้ว่า “เวลาตีแป้งจะต้องตีไปทางเดียวกัน อย่าตีย้อนไปย้อนมา เพราะส่วนผสมจะละเอียดไม่เท่ากัน และต้องตีด้วยจังหวะที่สม่ำเสมอกัน ในขณะที่เวลานึ่งต้องรอให้น้ำเดือดจัดก่อน และการนึ่งครั้งต่อไปต้องเช็ดไอน้ำที่เกาะอยู่ในฝาลังถึงก่อนปิดฝาทุกครั้ง ไม่อย่างนั้นไอน้ำจะหยดลงใส่ขนม ทำให้ขนมช้ำ ไม่สวย และเป็นก้อนแป้งแข็ง ๆ”
ใครสนใจ “ปุยฝ้ายนมสด” ของทัชชา เจ้าของกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” รายนี้ติดต่อได้ที่ โทร. 08-4479-9567 ซึ่งนี่ก็เป็นตัวอย่างการสร้างจุดต่างจนสร้างช่องทางทำกินที่ดีได้.
สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล : รายงาน
ภาณุพงศ์ พนาวัน : ภาพ
..........................................................................................
คู่มือลงทุน…ปุยฝ้ายนมสด
ทุนอุปกรณ์ ประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป
ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 60% ของราคาขาย
รายได้ ราคา 35 บาท/ 4 ชิ้น
แรงงาน 1-2 คนขึ้นไป
ตลาด ชุมชน/ออกร้าน/ย่านท่องเที่ยว
จุดที่น่าสนใจ ใช้นมสดเพิ่มมูลค่าให้กับขนม
credit by :
http://www.dailynews.co.th/Content/Article/305870/‘ปุยฝ้ายนมสด’+จุดต่างสร้างยอดขาย