“ขนมต้มใบกะพ้อ” หรือที่ชาวใต้เรียกสั้น ๆ ว่า “ต้ม” เป็นขนมนิยมของชาวปักษ์ใต้ มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมคล้ายกระจับ นิยมทำกันในช่วงงานบุญต่าง ๆ ถ้าเป็นชาวพุทธก็จะทำกันช่วงงานเทศกาลทำบุญเดือนสิบ งานบุญชักพระ งานบวช ชาวบ้านจะทำขนมไปใส่บาตร ถวายพระ ส่วนชาวมุสลิมจะเรียกขนมชนิดนี้ว่า “ตูป๊ะ” หรือ “ตูปัต” ทำกันในวันออกอีด หรือวันฮารีรายอ ที่มีการรวมญาติ ทุกคนจะล้อมวงช่วยกันทำเพื่อนำไปมัสยิด และฝากเพื่อนบ้าน แล้วเพื่อนบ้านก็จะนำของตัวเองใส่คืนกลับมาให้ ซึ่งวันนี้
ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลการทำขนมโบราณชนิดนี้ขาย มาให้ลองพิจารณา...
ผู้ที่จะมาให้ข้อมูลคือ อดุลย์ หมัดบู หนุ่มมุสลิมไฟแรงจากแดนสะตอ จ.สงขลา เจ้าของธุรกิจปาท่องโก๋สเปนและโรตี-ชาชัก โดยเขาบอกว่า ที่มาของธุรกิจนี้เกิดจากแนวความคิดที่ต้องการสืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาชาว บ้านการทำขนมโบราณที่เคยเห็นมาตั้งแต่เด็กในพิธีต่าง ๆ คิดว่าขนมโบราณเหล่านี้มีคุณค่าจึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารขนม มาลายูขึ้น เพื่อปลุกกระแส รื้อฟื้นขนมโบราณที่กำลังจะสูญหายไปให้กลับมาเป็นที่รู้จักและคงอยู่อย่างมี คุณค่า
มีการนำคนรุ่นเก่า ๆ ที่มีความรู้ความชำนาญในการทำขนมโบราณที่หารับประทานยาก มาถ่ายทอดกรรมวิธีการทำสู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านให้ได้เรียนรู้ เพื่ออนุรักษ์ขนมโบราณที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ไว้ ที่สำคัญคือเด็ก ๆ เหล่านี้จะได้ฝึกสมาธิด้วย ซึ่งดูได้จากการทำขนม บางคนสมาธิไม่ดีก็จะทำลูกใหญ่ เพราะจะห่อง่ายกว่าลูกเล็กที่ต้องใช้สมาธิ พร้อมทั้งเผยแพร่วิถีชีวิตของคนปักษ์ใต้ด้วยว่านิยมรับประทานขนมต้มกับน้ำชา กาแฟ
“เริ่มแรกนั้นผมจะเป็นผู้ทำการตลาดให้ ด้วยการนำขนมโบราณอย่าง ขนมต้มใบกะพ้อ และขนมอื่น ๆ เช่น ขนมเจาะหู ขนมจูจุน และขนมมาลายู ไปออกขายตามงานเทศกาล งานโอท็อป งานอีเวนต์ต่าง ๆ” อดุลย์กล่าว
“ขนมต้มใบกะพ้อ” นั้น อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำ หลัก ๆ ก็มี เตาแก๊ส, หม้อสำหนับนึ่ง, กระทะ, กะละมัง, กระชอน, ไม้พาย ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ในการทำ ตามสูตรนั้นส่วนผสมก็มี ข้าวเหนียวเขี้ยวงูคัดพิเศษ (จะเป็นข้าวเหนียวขาวหรือข้าวเหนียวดำก็ได้) 1 กก., มะพร้าวขูด1 กก., น้ำตาลทราย 2 ถ้วยตวง, เกลือ 2 ช้อนโต๊ะ และใบกะพ้อ สำหรับห่อขนม
ขั้นตอนการทำ “ขนมต้มใบกะพ้อ” หรือ “ต้ม” เริ่มจากนำข้าวเหนียวเขี้ยวงูขาวมาแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้ข้าวเหนียวดำต้องแช่ไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ระหว่างรอข้าวเหนียว ก็หันมาคั้นกะทิโดยใช้มะพร้าวขูดน้ำหนักเท่ากับข้าวเหนียว คั้นด้วยน้ำอุ่นให้ได้น้ำกะทิหนักเท่าข้าวเหนียว ซึ่งจากสูตรนี้เมื่อเรานำมาผัดกับกะทิ จะได้ข้าวเหนียวผัดที่พอดี ๆ ไม่แฉะหรือดิบเกินไป
ล้างข้าวเหนียวที่แช่น้ำตามเวลาแล้วให้สะอาด สงขึ้นพักในกระชอนให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นก็ทำการผัดข้าวเหนียวด้วยน้ำกะทิ โดยการเทข้าวเหนียงลงในกระทะ ใส่น้ำกะทิตามลงไป ปรับไฟใช้ความร้อนปานกลาง ผัดข้าวเหนียวกับน้ำกะทิสักครู่ จึงเติมเกลือลงไปด้วย ผัดไปเรื่อย ๆ ให้ทั่ว จนน้ำงวดก็เติมน้ำตาลให้ออกรสหวาน มัน เค็ม
ผัดให้แห้งพอหยิบข้าวเหนียวได้ ยกลงพักให้เย็น
ต่อไปเป็นขั้นตอนการห่อ นำใบกะพ้อออกมาคลี่และเช็ดให้สะอาด แบ่งส่วนใบกะพ้อให้มีความกว้างของแต่ละใบเท่ากัน เพื่อที่เวลาห่อจะได้ขนมขนาดเท่า ๆ กัน พับส่วนปลายใบกะพ้อเป็นรูปกรวย ตักข้าวเหนียวใส่ ใช้มือกดลงให้แน่นจนสุดกรวย แล้วพับเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว แล้วสอดส่วนโคนของใบกะพ้อออกมาทางยอดแหลมของกรวย ดึงให้แน่น หรือจะขมวดปมตรงปลายกรวยเพื่อกันหลุดก็ได้ จากนั้นก็นำไปต้มหรือนึ่งให้สุก ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อขนมสุกตัวขนมจะเป็นรูปสามเหลี่ยม เนื้อแน่น ร่อนออกจากใบกะพ้อ รสชาติหวานมันกำลังดี
ทั้งนี้ อดุลย์บอกถึงเคล็ดลับในการทำขนมให้อร่อยว่า ต้องไม่ขี้เหนียวส่วนผสม
สำหรับราคาขาย “ขนมต้มใบกะพ้อ” จะขายในราคาขายขีดละ 20 บาท (มีประมาณ 3-4 ลูก ขึ้นอยู่กับขนาดของขนม) มีต้นทุนเฉพาะในส่วนของวัตถุดิบประมาณ 60% ของราคาขาย
“ขนมต้มใบกะพ้อ” ขนมโบราณพื้นถิ่น ก็สามารถจะเป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่ดีได้ ใครสนใจก็ลองฝึกฝนการทำกันดู ซึ่งขนมพื้นบ้านโบราณนั้น ในยุคนี้หลาย ๆ ชนิดยังขายดี ส่วนใครต้องการติดต่ออดุลย์เพื่อให้นำขนมไปออกงาน หรือสั่งไปใช้ในงานประเพณีและงานเทศกาลต่าง ๆ ติดต่อได้ที่ โทร.08-9896-6457 และ 08-5474-6393
(ชมคลิปวิดีโอ “ช่องทางทำกิน” ได้ที่ www.dailynews.co.th)
เชาวลี ชุมขำ : เรื่อง / พิชญวัฒน์ ปรุงศักดิ์ : ภาพ
........................................................
คู่มือลงทุน...ขนมต้มใบกะพ้อ
ทุนอุปกรณ์ ประมาณ 8,000 บาทขึ้นไป
ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 60% ของราคาขาย
รายได้ ขายราคาขีดละ 20 บาท
แรงงาน ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป
ตลาด ย่านอาหาร, ออกร้าน, ชุมชน
จุดน่าสนใจ พื้นบ้านโบราณก็เป็นจุดขายที่ดี
credit :
http://www.dailynews.co.th/article/384/133595
adv001